http://yangpara.igetweb.com
สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com

 หน้าแรก

 สินค้า

 บทความ

 โพสได้ทุกเรื่องเกี่ยวกับเกษตร

 สั่งซื้อสินค้า

สถิติ

เปิดเว็บ10/12/2010
อัพเดท19/09/2018
ผู้เข้าชม173,121
เปิดเพจ276,033
สินค้าทั้งหมด1

บริการ

ปุ๋ยอินทรีย์ตราวังใหญ่

ปุ๋ยชีวภาพNHPนาโน(เฉพาะยางพารา)

สนใจใช้&สมัครตัวแทน

เกี่ยวกับเรา

ความรู้ยางพารา

การปลูกพืชชนิดต่างๆ

โรคพืชและศัตรูพืช

iGetWeb.com
AdsOne.com

โรคนาข้าว2

โรคนาข้าว มีมากมายดังนี้

โรคไหม้ (Rice Blast Disease)

พบมาก ในนาน้ำฝน ข้าวพันธุ์พื้นเมืองไวต่อช่วงแสง พบส่วนใหญ่ใน ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตก และ ภาคใต้

สาเหตุ เชื้อรา Pyricularia grisea Sacc

                      

                        อาการแผลจุดสีน้ำตาลคล้ายรูปตา              อาการแผลรูปตาตรงกลางมีสีเทา

                     

                                           อาการใบไหม้คล้ายน้ำร้อนลวก                          โรคไหม้ระบาดในแปลงกล้า

อาการ

ระยะกล้า ใบมีแผล จุดสีน้ำตาลคล้ายรูปตา มีสีเทาอยู่ตรงกลางแผล ความกว้างของแผลประมาณ 2-5 มิลลิเมตร และความยาวประมาณ 10-15 มิลลิเมตร แผลสามารถขยายลุกลามและกระจายทั่วบริเวณใบ ถ้าโรครุนแรงกล้าข้าวจะแห้งฟุบตาย อาการคล้ายถูกไฟไหม้

ระยะแตกกอ อาการพบได้ที่ใบ ข้อต่อของใบ และข้อต่อของลำต้น ขนาดแผลจะใหญ่กว่าที่พบในระยะกล้า แผลลุกลามติดต่อกันได้ที่บริเวณข้อต่อ ใบจะมีลักษณะแผลช้ำสีน้ำตาลดำ และมักหลุดจากกาบใบเสมอ

ระยะออกรวง (โรคเน่าคอรวง) ถ้าข้าวเพิ่งจะเริ่มให้รวง เมื่อถูกเชื้อราเข้าทำลาย เมล็ดจะลีบหมด แต่ถ้าเป็นโรคตอนรวงข้าวแก่ใกล้เก็บเกี่ยว จะปรากฏรอยแผลช้ำสีน้ำตาลที่บริเวณคอรวง ทำให้เปราะหักง่าย รวงข้าวร่วงหล่นเสียหายมาก

การแพร่ระบาด พบโรคในแปลงที่ต้นข้าวหนาแน่น ทำให้อับลม ถ้าใส่ปุ๋ยสูงและมีสภาพแห้งในตอนกลางวันและชื้นจัดในตอนกลางคืน น้ำค้างยาวนานถึงตอนสายราว 9 โมง ถ้าอากาศค่อนข้างเย็น อุณหภูมิประมาณ 22-25 oC ลมแรงจะช่วยให้โรคแพร่กระจายได้ดี


การป้องกันกำจัด


-ใช้พันธุ์ต้านทานโรค

ภาคกลาง เช่น สุพรรณบุรี 1 สุพรรณบุรี 2 สุพรรณบุรี 60 สุพรรณบุรี 90 ชัยนาท 1 ปราจีนบุรี 1
พลายงาม คลองหลวง 1 พิษณุโลก 1

ภาคเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น สุรินทร์ 1 เหนียวอุบล 2 เหนียวแพร่ สันปาตอง 1
หางยี 71 กู้เมืองหลวง ขาวโปร่งไคร้ น้ำรู

ภาคใต้ เช่น ดอกพะยอม

ข้อควรระวัง : ข้าวพันธุ์สุพรรณบุรี 1 สุพรรณบุรี 60 และชัยนาท 1 ที่ปลูกในภาคเหนือตอนล่าง พบว่า แสดงอาการรุนแรงในบางพื้นที่ และบางปี โดยเฉพาะเมื่อสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวย เช่น ฝนพรำ หรือหมอก น้ำค้างจัด อากาศเย็น ใส่ปุ๋ยมากเกินความจำเป็น หรือเป็นดินหลังน้ำท่วม

  • หว่านเมล็ดพันธุ์ในอัตราที่เหมาะสม คือ 15-20 กิโลกรัม/ไร่ ควรแบ่งแปลงให้มีการระบายถ่ายเทอากาศดี และไม่ควรใส่ปุ๋ยไนโตรเจนสูงเกินไป ถ้าสูงถึง 50 กิโลกรัม/ไร่ โรคไหม้จะพัฒนาอย่าง
    รวดเร็ว
  • คลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น คาซูกาไมซิน ไตรไซคลาโซล คาร์เบนดาซิม
    โพรคลอราซ ตามอัตราที่ระบุ ในแหล่งที่เคยมีโรคระบาดและพบแผลโรคไหม้ทั่วไป 5 เปอร์เซ็นต์
    ของพื้นที่ใบ ควรฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น คาซูกาไมซิน อีดิเฟนฟอส ไตรไซคลาโซล

ไอโซโพรไทโอเลน คาร์เบนดาซิม ตามอัตราที่ระบุ

 

 

 

 

 

โรคใบจุดสีน้ำตาล (Brown Spot Disease)

พบมาก ทั้ง นาน้ำฝน และ นาชลประทาน ใน ภาคกลาง ภาคเหนือ
ภาคตะวันตก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ ภาคใต้

สาเหตุ เชื้อรา Bipolaris oryzae (Helminthosporium oryzae Breda de Haan.)

 

อาการ แผลที่ใบข้าว พบมากในระยะแตกกอมีลักษณะเป็นจุดสีน้ำตาล รูปกลมหรือรูปไข่ ขอบนอกสุดของแผลมีสีเหลือง มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5-1 มิลลิเมตร แผลที่มีการพัฒนาเต็มที่ขนาดประมาณ 1-2 x 4-10 มิลลิเมตร บางครั้งพบแผลไม่เป็นวงกลมหรือรูปไข่ แต่จะเป็นรอยเปื้อนคล้ายสนิมกระจัดกระจายทั่วไปบนใบข้าว แผลยังสามารถเกิดบนเมล็ดข้าวเปลือก(โรคเมล็ดด่าง) บางแผลมีขนาดเล็ก บางแผลอาจใหญ่คลุมเมล็ดข้าวเปลือก ทำให้เมล็ดข้าวเปลือกสกปรก เสื่อมคุณภาพ เมื่อนำไปสีข้าวสารจะหักง่าย

                                                                                  อาการใบจุดสีน้ำตาลที่ใบ

การแพร่ระบาด เกิดจากสปอร์ของเชื้อราปลิวไปตามลม และติดไปกับเมล็ด

การป้องกันกำจัด

  • ใช้พันธุ์ต้านทานที่เหมาะสมกับสภาพท้องที่ และโดยเฉพาะพันธุ์ที่มีคุณสมบัติต้านทานโรคใบสีส้ม เช่น ภาคกลางใช้พันธุ์ปทุมธานี 1 ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ใช้พันธุ์เหนียวสันป่าตอง และหางยี 71
  • ปรับปรุงดินโดยการไถกลบฟาง หรือเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ดินโดยการปลูกพืชปุ๋ยสด หรือปลูกพืชหมุนเวียนเพื่อช่วยลดความรุนแรงของโรค
  • คลุกเมล็ดพันธุ์ก่อนปลูกด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น แมนโคเซบ หรือคาร์เบนดาซิม+แมนโคเซบ
    อัตรา 3 กรัม / เมล็ด 1 กิโลกรัม
  • ใส่ปุ๋ยโปแตสเซียมคลอไรด์ (0-0-60) อัตรา 5-10 กิโลกรัม / ไร่ ช่วยลดความรุนแรงของโรค
  • กำจัดวัชพืชในนา ดูแลแปลงให้สะอาด และใส่ปุ๋ยในอัตราที่เหมาะสม

ถ้าพบอาการของโรคใบจุดสีน้ำตาลรุนแรงทั่วไป 10 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ใบในระยะข้าวแตกกอ หรือในระยะที่ต้นข้าวตั้งท้องใกล้ออกรวง เมื่อพบอาการใบจุดสีน้ำตาลที่ใบธงในสภาพฝนตกต่อเนื่อง อาจทำให้เกิดโรคเมล็ดด่าง ควรพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อราเช่นอีดิเฟนฟอส,คาร์เบนดาซิม แมนโคเซบ หรือ คาร์เบนดาซิม+แมนโคเซบ ตามอัตราที่ระบุ

 

โรคใบขีดสีน้ำตาล (Narrow Brown Spot Disease)

พบมาก ทั้ง นาน้ำฝน และ นาชลประทาน ในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันตก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ ภาคใต้

สาเหตุ เชื้อรา Cercospora oryzae I. Miyake

อาการ ลักษณะแผลที่ใบมีสีน้ำตาลเป็นขีด ๆ ขนานไปกับเส้นใบข้าว มักพบในระยะข้าวแตกกอ แผลไม่กว้าง ตรงกลางเล็กและไม่มีรอยช้ำที่แผล ต่อมาแผลจะขยายมาติดกัน แผลจะมีมากตามใบล่างและปลายใบ ใบที่เป็นโรคจะแห้งตายจากปลายใบก่อน ต้นข้าวที่เป็นโรครุนแรงจะมีแผลสีน้ำตาลที่ข้อต่อใบได้เช่นกัน เชื้อนี้สามารถเข้าทำลายคอรวง ทำให้คอรวงเน่าและหักพับได้                                                                                          อาการใบขีดสีน้ำตาล

การแพร่ระบาด สปอร์ของเชื้อราสามารถปลิวไปกับลม และติดไปกับเมล็ด

การป้องกันกำจัด

  • ใช้พันธุ์ต้านทานที่เหมาะสมเฉพาะท้องที่ เช่น ภาคใต้ใช้พันธุ์แก่นจันทร์ ดอกพะยอม
  • ใช้ปุ๋ยโปแตสเซียมคลอไรด์ (0-0-60) อัตรา 5-10 กิโลกรัมต่อไร่ สามารถช่วยลดความรุนแรงของโรคได้

กรณีที่เกิดการระบาดของโรครุนแรงในระยะข้าวตั้งท้องอาจใช้สารป้องกันกำจัดเชื้อราเช่น
คาร์เบนดาซิม ตามอัตราที่ระบุุ เพื่อป้องกันการเกิดโรคเมล็ดด่าง

 

โรคใบวงสีน้ำตาล (Leaf Scald Disease)

พบมาก ในนาชลประทาน ภาคกลาง ข้าวไร่ภาคเหนือ

สาเหตุ เชื้อรา Rhynocosporium oryzae Hashioka&Yokogi

อาการ ระยะกล้าข้าวจะแสดงอาการไหม้ที่ปลายใบและมีสีน้ำตาลเข้ม ระยะแตกกออาการส่วนใหญ่จะเกิดบนใบ แต่มักจะเกิดแผลที่ปลายใบมากกว่าบริเวณอื่นๆ ของใบ แผลที่เกิดบนใบในระยะแรกมีลักษณะเป็นรอยช้ำ รูปไข่ยาวๆ แผลสีน้ำตาลปนเทา ขอบแผลสีน้ำตาลอ่อน จากนั้นแผลจะขยายใหญ่ขึ้นเป็นรูปวงรี ติดต่อกัน ทำให้เกิดอาการใบไหม้บริเวณกว้าง และเปลี่ยนเป็นสีฟางข้าว ในที่สุดแผลจะมีลักษณะเป็นวงซ้อนๆ กันลุกลามเข้ามาที่โคนใบ มีผลทำให้ข้าวแห้งก่อนกำหนด

 

อาการโรคใบวงสีน้ำตาลที่ปลายใบ

การแพร่ระบาด มีพืชอาศัย เช่น หญ้าชันกาด และหญ้าขน

การป้องกันกำจัด

  • ใช้พันธุ์ข้าวต้านทาน เช่น ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือใช้พันธุ์กำผาย 15 หางยี 71
  • กำจัดพืชอาศัยของเชื้อราสาเหตุโรค

ในแหล่งที่เคยมีโรคระบาด หรือพบแผลลักษณะอาการดังที่กล่าวข้างต้นบนใบข้าวจำนวนมาก ในระยะข้าวแตกกอ ควรฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น ไธโอฟาเนทเมทิล โพรพิโคนาโซล ตามอัตราที่ระบุ

 

 

โรคกาบใบแห้ง (Sheath blight Disease)

พบมาก ในนาชลประทาน ภาคกลาง ภาคเหนือ และ ภาคใต้

สาเหตุ เชื้อรา Rhizoctonia solani (Thanatephorus cucumeris (Frank) Donk)

อาการ เริ่มพบโรคในระยะแตกกอ จนถึงระยะใกล้เก็บเกี่ยว ยิ่งต้นข้าวมีการแตกกอมากเท่าใด ต้นข้าวก็จะเบียดเสียดกันมากขึ้น โรคก็จะเป็นรุนแรง ลักษณะแผลสีเขียวปนเทา ขนาดประมาณ 1-4 x 2-10 มิลลิเมตร ปรากฏตามกาบใบ ตรงบริเวณใกล้ระดับน้ำ แผลจะลุกลามขยายใหญ่ขึ้นจนมีขนาดไม่จำกัดและลุกลามขยายขึ้นถึงใบข้าว ถ้าเป็นพันธุ์ข้าวที่อ่อนแอ แผลสามารถลุกลามถึงใบธงและกาบหุ้มรวงข้าว ทำให้ใบและกาบใบเหี่ยวแห้ง ผลผลิตจะลดลงอย่างมากมาย

 

อาการโรคกาบใบแห้ง

การแพร่ระบาด เชื้อราสามารถสร้างเม็ดขยายพันธุ์ อยู่ได้นานในตอซังหรือวัชพืชในนาตามดินนา และมีชีวิตข้ามฤดูหมุนเวียนทำลายข้าวได้ตลอดฤดูการทำนา

การป้องกันกำจัด

  • หลังเก็บเกี่ยวข้าว และเริ่มฤดูใหม่ ควรพลิกไถหน้าดิน เพื่อทำลายเม็ดขยายพันธุ์ของเชื้อราสาเหตุโรค
  • กำจัดวัชพืชตามคันนาและแหล่งน้ำ เพื่อลดโอกาสการฟักตัวและเป็นแหล่งสะสมของ
    เชื้อราสาเหตุโรค
  • ใช้ชีวภัณฑ์บาซิลลัส ซับทิลิส (เชื้อแบคทีเรียปฏิปักษ์) ตามอัตราที่ระบุ

ใช้สารป้องกันกำจัดเชื้อราเช่นวาลิดามัยซิน,โพรพิโคนาโซล,เพนไซคูรอน
(25%ดับบลิวพี) หรืออีดิเฟนฟอส ตามอัตราที่ระบุโดยพ่นสารป้องกันกำจัดเชื้อรานี้ในบริเวณที่เริ่มพบโรคระบาด ไม่จำเป็นต้องพ่นทั้งแปลง เพราะโรคกาบใบแห้งจะเกิดเป็นหย่อม

 

 

โรคกาบใบเน่า (Sheath Rot Disease)

พบมาก ในนาชลประทาน ภาคกลาง

สาเหตุ เชื้อรา Sarocladium oryzae Sawada

อาการ ข้าวแสดงอาการในระยะตั้งท้องโดยเกิดแผลสีน้ำตาลดำบนกาบห่อรวง ขนาดแผลประมาณ 2-7 x 4-18 มิลลิเมตร ตรงกลางแผลมีกลุ่มเส้นใยสีขาวอมชมพู แผลนี้จะขยายติดต่อกันทำให้บริเวณกาบหุ้มรวงมีสีน้ำตาลดำและรวงข้าวส่วนใหญ่โผล่ไม่พ้นกาบหุ้มรวง หรือโผล่ได้บางส่วน ทำให้เมล็ดลีบและมีสีดำ

                                                                  ลักษณะอาการโรคกาบใบเน่า

 

การแพร่ระบาด เชื้อรานี้ติดอยู่บนเมล็ดได้นาน นอกจากนี้ พบว่า “ไรขาว” ซึ่งอาศัยดูดกินน้ำเลี้ยงต้นข้าวในบริเวณกาบใบด้านใน สามารถเป็นพาหะช่วยทำให้โรคแพร่ระบาดได้รุนแรง และกว้างขวางยิ่งขึ้น

 

การป้องกันกำจัด

  • ใช้พันธุ์ค่อนข้างต้านทานที่เหมาะสมกับสภาพท้องที่ เช่น กข27 สำหรับนาลุ่มมีน้ำขัง ใช้พันธุ์ข้าวที่ลำต้นสูง แตกกอน้อย
  • ใช้สารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น แมนโคเซบ คาร์เบนดาซิม คาร์เบนดาซิม+แมนโคเซบ ไธอะเบนดาโซล ตามอัตราที่ระบุ

ลดจำนวนประชากรไรขาว พาหะแพร่เชื้อ ในช่วงอากาศแห้งแล้ง ด้วยสารป้องกันกำจัดไร เช่น ไตรไทออน โอไมท์ ตามอัตราที่ระบุ

 

 

โรคเมล็ดด่าง (Dirty Panicle Disease)

พบมาก ในนาชลประทาน ภาคกลาง ภาคตะวันตก ภาคเหนือ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ ภาคใต้

สาเหตุ เชื้อรา Curvularia lunata (Wakk) Boed.
Cercospora oryzae I.Miyake.
Helminthosporium oryzae Breda de Haan.
Fusarium semitectum Berk & Rav.
Trichoconis padwickii Ganguly.
Sarocladium oryzae Sawada

 

 

อาการ ในระยะออกรวง พบแผลเป็นจุดสีน้ำตาลหรือดำที่เมล็ดบนรวงข้าว บางส่วนก็มีลายสีน้ำตาลดำ และบางพวกมีสีเทาปนชมพู ทั้งนี้เพราะมีเชื้อราหลายชนิดที่สามารถเข้าทำลายและทำให้เกิดอาการต่างกันไป การเข้าทำลายของเชื้อรามักจะเกิดในช่วงดอกข้าวเริ่มโผล่จากกาบหุ้มรวงจนถึงระยะเมล็ดข้าวเริ่มเป็นน้ำนม และอาการเมล็ดด่าง จะปรากฏเด่นชัดในระยะใกล้เก็บเกี่ยว                             

                                                                      อาการโรคเมล็ดด่าง

การแพร่ระบาด เชื้อราสามารถแพร่กระจายไปกับลม ติดไปกับเมล็ด และสามารถแพร่กระจายในยุ้งฉางได้

การป้องกันกำจัด

  • ควรเฝ้าระวังการเกิดโรคถ้าปลูกข้าวพันธุ์ที่อ่อนแอต่อโรคนี้ เช่น สุพรรณบุรี 60 สุพรรณบุรี 90 พิษณุโลก 2 และข้าวเจ้าหอมคลองหลวง 1
  • เมล็ดพันธุ์ที่ใช้ปลูก ควรคัดเลือกจากแปลงที่ไม่เป็นโรค
  • คลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น คาร์เบนดาซิม หรือ แมนโคเซบ
    ในอัตรา 3 กรัม /เมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม

ในระยะที่ต้นข้าวตั้งท้องใกล้ออกรวงเมื่อพบอาการใบจุดสีน้ำตาลที่ใบธง และโรคกาบใบเน่า ถ้ามีฝนตกชุก ควรวางมาตรการป้องกันแต่ต้นมือ โดยพ่นสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น โพรพิโคนาโซล โพรพิโคนาโซล + ไดฟีโนโคนาโซล หรือโพรพิโคนาโซล+ โพรคลอราซ หรือ คาร์เบนดาซิม + อีพ๊อกซี่โคนาโซล หรือ ฟูซิราซอล หรือ ทีบูโคนาโซล หรือ โพรคลอราซ+คาร์เบนดาซิมหรือแมนโคเซบหรือคาร์เบนดาซิม+ แมนโคเซบ ตามอัตราที่ระบุ

 

โรคถอดฝักดาบ (Bakanae Disease)

พบมาก นาน้ำฝน ภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

สาเหตุ เชื้อรา Fusarium fujikuroi Nirenberg (Fusarium moniliforme J. Sheld)

อาการ พบโรคในระยะกล้า ต้นกล้าจะแห้งตายหลังจากปลูกได้ไม่เกิน 7 วัน แต่มักพบกับข้าวอายุเกิน 15 วัน ระยะเริ่มแตกกอข้าวเป็นโรคจะต้นผอมสูงเด่นกว่ากล้าข้าวโดยทั่วๆไป
ต้นข้าวผอมมีสีเขียวอ่อนซีด มักย่างปล้อง บางกรณีข้าวจะไม่ย่างปล้อง แต่รากจะเน่าช้ำเวลาถอนมักจะขาดตรงบริเวณโคนต้น ถ้าเป็นรุนแรงกล้าข้าวจะตาย หากไม่รุนแรงอาการจะแสดงหลังจากย้ายไปปักดำได้ 15-45 วัน โดยที่ต้นเป็นโรคจะสูงกว่าข้าวปกติ ใบมีสีเขียวซีด เกิดรากแขนงที่ข้อลำต้นตรงระดับน้ำ บางครั้งพบกลุ่มเส้นใยสีชมพูตรงบริเวณข้อที่ย่างปล้องขึ้นมา ต้นข้าวที่เป็นโรคมักจะตายและมีน้อยมากที่อยู่รอดจนถึงออกรวง

 

การแพร่ระบาด เชื้อราจะติดไปกับเมล็ด สามารถมีชีวิตในซากต้นข้าวและในดินได้เป็นเวลาหลายเดือน พบว่า หญ้าชันกาด เป็นพืชอาศัยของโรค

การป้องกันกำจัด

  • หลีกเลี่ยงการนำเมล็ดพันธุ์จากแหล่งที่เคยเป็นโรคระบาดมาปลูก
  • คลุกเมล็ดพันธุ์ข้าวด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น แมนโคเซบ หรือ คาร์เบนดาซิม+แมนโคเซบ อัตรา 3 กรัมต่อเมล็ด 1 กิโลกรัม หรือแช่เมล็ดข้าวเปลือกก่อนหุ้มข้าวให้งอกก่อนปลูก ด้วยสารละลายของสารป้องกันกำจัดเชื้อราดังกล่าวในอัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือแช่เมล็ดข้าวในสารละลายโซเดียมคลอโรไฮโปคลอไรท์ (คลอร็อกซ์)
    ความเข้มข้น 5 เปอร์เซ็นต์หรือ คลอร็อกซ์ อัตรา 1 : น้ำ 9 ส่วน
  • ควรกำจัดต้นข้าวที่เป็นโรคโดยการถอนและเผาทิ้ง

เมื่อเกี่ยวข้าวแล้วควรไขน้ำเข้าที่นาและไถพรวน ปล่อยน้ำเข้าที่นาประมาณ 1-2 สัปดาห์ เพื่อลดปริมาณเชื้อราสาเหตุโรคที่ตกค้างในดิน

 

โรคขอบใบแห้ง (Bacterial Leaf Blight Disease or Bacterial Blight Disease)

พบมาก ในนาน้ำฝน นาชลประทาน ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ ภาคใต้

สาเหตุ เชื้อแบคทีเรีย Xanthomonas oryzae pv. oryzae (ex Ishiyama) Swings et al.

 

อาการ โรคนี้เป็นได้ตั้งแต่ระยะกล้า แตกกอ จนถึงฺ ออกรวง ต้นกล้าก่อนนำไปปักดำจะมีจุดเล็กๆ ลักษณะช้ำที่ขอบใบของใบล่าง ต่อมาประมาณ 7-10 วัน จุดช้ำนี้จะขยายกลายเป็นทางสีเหลืองยาวตามใบข้าว ใบที่เป็นโรคจะแห้งเร็ว และสีเขียวจะจางลงเป็นสีเทาๆ อาการในระยะปักดำจะแสดงหลังปักดำแล้วหนึ่งเดือนถึงเดือนครึ่ง ใบที่เป็นโรคขอบใบมีรอยขีดช้ำ ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ที่แผลมีหยดน้ำสีครีมคล้ายยางสนกลม ๆ ขนาดเล็กเท่าหัวเข็มหมุด ต่อมาจะกลายเป็นสีน้ำตาลและหลุดไปตาม น้ำหรือฝน ซึ่งจะทำให้โรคสามารถระบาดต่อไปได้ แผลจะขยายไปตามความยาวของใบ บางครั้งขยายเข้าไปข้างในตามความกว้างของใบ ขอบแผลมีลักษณะเป็นขอบลายหยัก แผลนี้เมื่อนานไปจะเปลี่ยนเป็นสีเทา ใบที่เป็นโรค ขอบใบจะแห้งและม้วนตามความยาว ในกรณีที่ต้นข้าวมีความอ่อนแอต่อโรคและเชื้อโรคมีปริมาณมาก จะทำให้ท่อน้ำท่ออาหารอุดตัน ต้นข้าวจะเหี่ยวเฉาและแห้งตายทั้งต้นโดยรวดเร็ว เรียกอาการของโรคนี้ว่า ครีเสก (kresek)

การแพร่ระบาด เชื้อสาเหตุโรคสามารถแพร่ไปกับน้ำ ในสภาพแวดล้อมที่มีความชื้นสูง และสภาพที่มีฝนตก ลมพัดแรง จะช่วยให้โรคแพร่ระบาดอย่างกว้างขวางรวดเร็ว

การป้องกันกำจัด

  • ใช้พันธุ์ข้าวที่ต้านทาน เช่น พันธุ์สุพรรณบุรี 60 สุพรรณบุรี 90 สุพรรณบุรี 1 สุพรรณบุรี 2 กข7 และ กข23
  • ในดินที่อุดมสมบูรณ์ไม่ควรใส่ปุ๋ยไนโตรเจนมาก
  • ไม่ควรระบายน้ำจากแปลงที่เป็นโรคไปสู่แปลงอื่น

ควรเฝ้าระวังการเกิดโรคถ้าปลูกข้าวพันธุ์ที่อ่อนแอต่อโรคนี้ เช่น พันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 กข6 เหนียวสันป่าตอง พิษณุโลก 2 ชัยนาท 1 เมื่อเริ่มพบอาการของโรคบนใบข้าว ให้ใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืช

เช่นไอโซโพรไทโอเลนคอปเปอร์ไฮดรอกไซด์

เสตร็พโตมัยซินซัลเฟต+ออกซีเตทตราไซคลินไฮโดรคลอร์ไรด์ ไตรเบซิคคอปเปอร์ซัลเฟต

 

โรคใบขีดโปร่งแสง (Bacterial Leaf Streak Disease)

พบมาก ในนาน้ำฝน และ นาชลประทาน ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ ภาคใต้

สาเหตุ เชื้อแบคทีเรีย Xanthomonas oryzae pv. oryzicola (Fang et al.) Swings et al.

อาการ โรคนี้เป็นได้ตั้งแต่ระยะข้าวแตกกอจนถึงฺออกรวง อาการปรากฏที่ใบ เริ่มแรกเห็นเป็นขีดช้ำยาวไปตามเส้นใบ ต่อมาค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือส้ม เมื่อแผลขยายรวมกันก็จะเป็นแผลใหญ่ แสงสามารถทะลุผ่านได้ และพบแบคทีเรียในรูปหยดน้ำสีเหลืองคล้ายยางสนกลมๆ ขนาดเล็กเท่าหัวเข็มหมุดปรากฏอยู่บนแผล ความยาวของแผลขึ้นอยู่กับความต้านทานของพันธุ์ข้าว และความรุนแรงของเชื้อ ในพันธุ์ที่อ่อนแอต่อโรค แผลจะขยายจนใบไหม้ไปถึงกาบใบ ลักษณะของแผลจะคล้ายคลึงกับเกิดบนใบ ส่วนในพันธุ์ต้านทาน จำนวนแผลจะน้อยและแผลจะไม่ขยายตามความยาวของใบ รอบๆ แผลจะมีสีน้ำตาลดำ

 

อาการของโรคใบขีดโปร่งแสง

การแพร่ระบาด ข้าวที่เป็นโรค มักถูกหนอนกระทู้ หนอนม้วนใบ และแมลงดำหนามเข้าทำลายซ้ำเดิม ในสภาพที่มีฝนตก ลมพัดแรง จะช่วยให้โรคแพร่ระบาดอย่างกว้างขวางรวดเร็ว และถ้าสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม ใบข้าวที่แตกใหม่ อาจไม่แสดงอาการโรคเลย

การป้องกันกำจัด

  • ในดินที่อุดมสมบูรณ์ไม่ควรใส่ปุ๋ยไนโตรเจนมากไม่ควรปลูกข้าวแน่นเกินไปและอย่าให้ระดับน้ำในนาสูงเกินควร

 

โรคใบสีส้ม (Rice Tungro Disease or Yellow Orange Leaf Disease)

พบมาก ในนาชลประทาน ภาคกลาง

สาเหตุ เชื้อไวรัส Rice Tungro Bacilliform Virus (RTBV) และ
Rice Tungro Spherical Virus
(RTSV)

อาการ ต้นข้าวเป็นโรคได้ ทั้งระยะกล้า แตกกอ ตั้งท้อง หากข้าวได้รับเชื้อในระยะกล้าถึงระยะแตกกอ ข้าวจะเสียหายมากกว่าได้รับเชื้อในระยะตั้งท้องถึงระยะออกรวง ข้าวเริ่มแสดงอาการหลังจากได้รับเชื้อ 15-20 วัน อาการเริ่มต้นใบข้าวจะเริ่มมีสีเหลืองสลับเขียว ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง เริ่มจากปลายใบเข้าหาโคนใบ ถ้าเป็นรุนแรงในระยะกล้าต้นข้าวอาจถึงตาย ต้นที่เป็นโรคจะเตี้ยแคระแกรน ช่วงลำต้นสั้นกว่าปกติมาก ใบใหม่ที่โผล่ออกมามีตำแหน่งต่ำกว่าข้อต่อใบล่าสุด ถ้าเป็นรุนแรงอาจตายทั้งกอ ถ้าไม่ตายจะออกรวงล่าช้ากว่าปกติ ให้รวงเล็ก หรือไม่ออกรวงเลย

 

การแพร่ระบาด เชื้อไวรัสสาเหตุโรคถ่ายทอดได้โดยแมลงพาหะ คือ เพลี้ยจักจั่นสีเขียว

 

การป้องกันกำจัด

  • ใช้พันธุ์ข้าวต้านทานแมลงเพลี้ยจักจั่นสีเขียว เช่น กข1 กข3
  • กำจัดวัชพืช และพืชอาศัยของเชื้อไวรัสและแมลงพาหะนำโรค
  • ใช้สารป้องกันกำจัดแมลงพาหะ ได้แก่ ใช้สารฆ่าแมลงในระยะที่แมลงเป็นตัวอ่อน เช่น ไดโนทีฟูเรน หรือ บูโพรเฟซิน หรือ อีโทเฟนพรอกซ์ ไม่ควรใช้สารฆ่าแมลงผสมกันหลายๆ ชนิด หรือใช้สารฆ่าแมลงผสมสารกำจัดโรคพืชหรือสารกำจัดวัชพืช เพราะอาจทำให้ประสิทธิภาพของสารฆ่าแมลงลดลง

ไม่ใช้สารกลุ่มไพรีทรอยด์สังเคราะห์ เช่น ไซเพอร์มิทริน ไซฮาโลทริน เดลต้ามิทริน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

โรคใบหงิก (โรคจู๋) (Rice Ragged Stunt Disease)

พบมาก ในนาชลประทาน ภาคกลาง

สาเหตุ เชื้อไวรัส Rice Ragged Stunt Virus (RRSV)

อาการ ต้นข้าวเป็นโรคได้ ทั้ง ระยะกล้า แตกกอ ตั้งท้อง อาการของต้นข้าวที่เป็นโรค สังเกตได้ง่าย คือ ข้าวต้นเตี้ยกว่าปกติ ใบแคบและสั้นสีเขียวเข้ม แตกใบใหม่ช้ากว่าปกติ แผ่นใบไม่สมบูรณ์ ปลายใบบิดเป็นเกลียว ขอบใบแหว่งวิ่นและเส้นใบบวมโป่งเป็นแนวยาวทั้งที่ใบและกาบใบ ข้าวที่เป็นโรคออกรวงล่าช้าและให้รวงไม่สมบูรณ์ เมล็ดลีบ ผลผลิตลดลง 30 ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ และข้าวพันธุ์อ่อนแอที่เป็นโรคในระยะกล้า ต้นข้าวอาจตายและไม่ได้ผลผลิตเลย

 

การแพร่ระบาด เชื้อไวรัสสาเหตุโรคถ่ายทอดได้โดยแมลงพาหะ คือ เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และเชื้อไวรัสสามารถคงอยู่ในตอซัง และหญ้าบางชนิด

 

การป้องกันกำจัด

• กำจัดหรือทำลายเชื้อไวรัส โดยไถกลบหรือเผาตอซังในนาที่มีโรค กำจัดวัชพืช โดยเฉพาะวัชพืชใกล้แหล่งน้ำซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยและขยายพันธุ์ของแมลงพาหะ


• ใช้พันธุ์ที่ต้านทานต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เช่น พันธุ์สุพรรณบุรี 90 สุพรรณบุรี 3 และชัยนาท 2 แต่ไม่ควรปลูกข้าวพันธุ์ดังกล่าว ติดต่อกันเป็นแปลงขนาดใหญ่ เนื่องจากแมลงสามารถปรับตัว เข้าทำลายพันธุ์ข้าวที่ต้านทานได้

• ใช้สารป้องกันกำจัดแมลงพาหะ ได้แก่ ใช้สารฆ่าแมลงในระยะที่แมลงเป็นตัวอ่อน เช่น ไดโนทีฟูเรน หรือ บูโพรเฟซิน หรือ อีโทเฟนพรอกซ์ ไม่ควรใช้สารฆ่าแมลงผสมกันหลายๆ ชนิดหรือใช้สารฆ่าแมลงผสมสารป้องกันกำจัดโรคพืชหรือสารกำจัดวัชพืช เพราะอาจทำให้ประสิทธิภาพของสารฆ่าแมลงลดลง

• ไม่ใช้สารกลุ่มไพรีทรอยด์สังเคราะห์ เช่น ไซเพอร์มิทริน ไซฮาโลทริน เดลต้ามิทริน เนื่องจากสารกลุ่มนี้ไปทำลายแมลงศัตรูธรรมชาติ จึงทำให้เกิดการระบาดรุนแรงของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล

• ถ้าปฏิบัติได้ เมื่อมีโรคระบาดรุนแรงควรงดปลูกข้าว 1 – 2 ฤดู เพื่อตัดวงจรชีวิตของแมลงพาหะ

 

 

โรคหูด (Gall Dwarf Disease)

พบมาก ในนาชลประทาน ภาคกลาง

สาเหตุ เชื้อไวรัส Rice Gall Dwarf Virus (RGDV)

อาการ ต้นข้าวเป็นโรคได้ ตั้งแต่ระยะกล้า จนถึงระยะตั้งท้อง อาการของโรคคล้ายคลึงโรคใบหงิกมาก คือ ข้าวต้นเตี้ย แคระแกร็น ใบสีเขียวเข้มและสั้นกว่าปกติ นอกจากนี้ที่บริเวณหลังและกาบใบปรากฏปมขนาดเล็ก สีเขียวซีดหรือขาวใส ลักษณะคล้ายเม็ดหูด ซึ่งเป็นเส้นใบที่บวมปูดออกมา จะปรากฏเด่นชัด และมีจำนวนเม็ดหูดเพิ่มมากขึ้นเมื่อต้นข้าวแสดงอาการรุนแรง ต้นข้าวที่เป็นโรคจะแตกกอน้อย ให้รวงไม่สมบูรณ์

 

การแพร่ระบาด เชื้อไวรัสสาเหตุโรคถ่ายทอดได้โดยแมลงพาหะ คือ เพลี้ยจักจั่นปีกลายหยัก และ เพลี้ยจักจั่นสีเขียว

 

การป้องกันกำจัด
• กำจัดหรือทำลายเชื้อไวรัส โดยไถกลบหรือเผาตอซังในนาที่มีโรค กำจัดวัชพืช โดยเฉพาะวัชพืชใกล้แหล่งน้ำที่เป็นที่อยู่อาศัยและขยายพันธุ์ของแมลงพาหะ
• ใช้พันธุ์ข้าวต้านทานแมลงเพลี้ยจักจั่นปีกลายหยักและเพลี้ยจักจั่นสีเขียว เช่น กข1 กข3 แต่ไม่ควรปลูกข้าวพันธุ์ดังกล่าวติดต่อกันเป็นแปลงขนาดใหญ่เนื่องจากแมลงสามารถปรับตัวเข้าทำลายพันธุ์ข้าวที่ต้านทานได้

•ใช้สารป้องกันกำจัดแมลงพาหะได้แก่ใช้สารฆ่าแมลงในระยะที่แมลงเป็นตัวอ่อนเช่น
ไดโนทีฟูเรน หรือ บูโพรเฟซิน หรือ อีโทเฟนพรอกซ์ ไม่ควรใช้สารฆ่าแมลงผสมกันหลายๆ ชนิด หรือใช้สารฆ่าแมลงผสมสารป้องกันกำจัดโรคพืชหรือสารกำจัดวัชพืชเพราะอาจทำให้ประสิทธิภาพของสารฆ่าแมลงลดลง

•ไม่ใช้สารกลุ่มไพรีทรอยด์สังเคราะห์เช่นไซเพอร์มิทริน,ไซฮาโลทริน,เดลต้ามิทริน
• ถ้าปฏิบัติได้ เมื่อมีโรคระบาดรุนแรงควรงดปลูกข้าว 1–2 ฤดู เพื่อตัดวงจรชีวิตของแมลงพาหะ

 

โรคเขียวเตี้ย (Grassy Stunt Disease)

พบมาก ในนาชลประทาน ภาคกลาง

สาเหตุ เชื้อไวรัส Rice Grassy Stunt Virus (RGSV)

อาการ ต้นข้าวเป็นโรคได้ ทั้งระยะกล้า แตกกอ ตั้งท้อง ต้นเตี้ยแคระแกรน เป็นพุ่มแจ้ แตกกอมาก เชื้อสาเหตุสายพันธุ์เดิมทำให้เกิดอาการใบแคบสีเขียวเข้ม แต่ในปัจจุบัน เชื้อสาเหตุสายพันธุ์ใหม่ที่พบทำให้เกิดอาการใบแคบมีสีเหลือง เหลืองอมเขียวจนถึงเหลืองอ่อน ใบมีจุดประสีเหลืองอ่อนจนถึงน้ำตาลอ่อน บางครั้งพบแถบสีเขียวเหลืองระหว่างเส้นใบขนานไปกับเส้นกลางใบ ต้นข้าวที่เป็นโรคมักจะไม่ออกรวง หรือให้รวงไม่สมบูรณ์ บางครั้งอาจพบโรคนี้เกิดร่วมกับโรคใบหงิก

 

 

อาการของโรคเขียวเตี้ยสายพันธุ์ใหม่

การแพร่ระบาด เชื้อไวรัสสาเหตุโรคถ่ายทอดได้โดยแมลงพาหะ คือ เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล

 

 

การป้องกันกำจัด

• กำจัดหรือทำลายเชื้อไวรัส โดยไถกลบหรือเผาตอซังในนาที่มีโรค กำจัดวัชพืช โดยเฉพาะวัชพืชใกล้แหล่งน้ำที่เป็นที่อยู่อาศัยและขยายพันธุ์ของแมลงพาหะ

• ใช้พันธุ์ที่ต้านทานต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เช่น พันธุ์สุพรรณบุรี 90 สุพรรณบุรี 3 และชัยนาท 2 แต่ไม่ควรปลูกข้าวพันธุ์ดังกล่าว ติดต่อกันเป็นแปลงขนาดใหญ่ เนื่องจากแมลงสามารถปรับตัว เข้าทำลายพันธุ์ข้าวที่ต้านทานได้

• ใช้สารป้องกันกำจัดแมลงพาหะ ได้แก่ ใช้สารฆ่าแมลงในระยะที่แมลงเป็นตัวอ่อน เช่น ไดโนทีฟูเรน หรือ บูโพรเฟซิน หรือ อีโทเฟนพรอกซ์ ไม่ควรใช้สารฆ่าแมลงผสมกันหลายๆชนิดหรือใช้สารฆ่าแมลงผสมสารป้องกันกำจัดโรคหรือสารกำจัดวัชพืชเพราะอาจทำให้ประสิทธิภาพของสารฆ่าแมลงลดลง

•ไม่ใช้สารกลุ่มไพรีทรอยด์สังเคราะห์เช่นไซเพอร์มิทริน,ไซฮาโลทริน,เดลต้ามิทริน

• ถ้าปฏิบัติได้ เมื่อมีโรคระบาดรุนแรงควรงดปลูกข้าว 1 – 2 ฤดู เพื่อตัดวงจรชีวิตของแมลงพาหะ

 

 

 

 

 

โรคใบสีแสด (Orange Leaf Disease)

พบมาก ในนาชลประทาน ภาคกลาง

สาเหตุ เกิดจากเชื้อไฟโตพลาสมา

อาการ ข้าวเป็นโรคได้ ตั้งแต่ระยะแตกกอจนถึงระยะตั้งท้อง ต้นข้าวที่เป็นโรคนี้ ใบแสดงอาการสีแสดจากปลายใบที่ใบล่าง และเป็นสีแสดทั่วทั้งใบยกเว้นเส้นกลางใบ ใบที่เป็นโรคจะม้วนจากขอบใบทั้งสองข้างเข้ามาหาเส้นกลางใบ และใบจะแห้งตายในที่สุด ต้นข้าวสูงตามปกติ แต่แตกกอน้อย และตายอย่างรวดเร็ว โรคใบสีแสดนี้เกิดเป็นกอๆ ไม่แพร่กระจายเป็นบริเวณกว้างเหมือนโรคใบสีส้ม

 

การแพร่ระบาด เชื้อสาเหตุโรคถ่ายทอดได้โดยแมลงพาหะ คือ เพลี้ยจักจั่นปีกลายหยักเชื้อสามารถอาศัยอยู่ตามวัชพืชและพืชอาศัยชนิดต่างๆ

 

การป้องกันกำจัด

• กำจัดหรือทำลายเชื้อสาเหตุโรค โดยไถกลบหรือเผาตอซังในนาที่มีโรค กำจัดวัชพืช โดยเฉพาะวัชพืชใกล้แหล่งน้ำที่เป็นที่อยู่อาศัยและขยายพันธุ์ของแมลงพาหะ

• ใช้พันธุ์ข้าวต้านทานแมลงเพลี้ยจักจั่นปีกลายหยัก เช่น กข1 กข3 แต่ไม่ควรปลูกข้าวพันธุ์ดังกล่าว ติดต่อกันเป็นแปลงขนาดใหญ่เนื่องจากแมลงสามารถปรับตัวเข้าทำลายพันธุ์ข้าวที่ต้านทานได้

•ใช้สารป้องกันกำจัดแมลงพาหะได้แก่ใช้สารฆ่าแมลงในระยะที่แมลงเป็นตัวอ่อนเช่น ไดโนทีฟูเรน หรือ บูโพรเฟซิน หรือ อีโทเฟนพรอกซ์ ไม่ควรใช้สารฆ่าแมลงผสมกันหลายๆ ชนิด หรือใช้สารฆ่าแมลงผสมสารป้องกันกำจัดโรคพืชหรือสารกำจัดวัชพืชเพราะอาจทำให้ประสิทธิภาพของสารฆ่าแมลงลดลง

•ไม่ใช้สารกลุ่มไพรีทรอยด์สังเคราะห์เช่นไซเพอร์มิทริน,ไซฮาโลทริน,เดลต้ามิทริน

• ถ้าปฏิบัติได้ เมื่อมีโรคระบาดรุนแรงควรงดปลูกข้าว 1–2 ฤดู เพื่อตัดวงจรชีวิตของแมลงพาหะ

 

 

โรคเหลืองเตี้ย (Yellow Dwarf Disease)

พบมาก ในนาชลประทาน ภาคกลาง

สาเหตุ เกิดจากเชื้อไฟโตพลาสมา

อาการ โรคนี้พบในระยะข้าวแตกกอถึงระยะออกรวง ใบที่ออกใหม่มีอาการเหลืองซีด ต้นเตี้ย แตกกอมากเป็นพุ่มแจ้ ต้นเป็นโรคอาจตายหรือไม่ออกรวง ถ้าต้นข้าวได้รับเชื้อใกล้ระยะออกรวง จะไม่แสดงอาการ แต่จะแสดงอาการในลูกข้าวที่งอกจากตอซัง

 

การแพร่ระบาด เชื้อสาเหตุโรคถ่ายทอดได้โดยแมลงพาหะ คือ เพลี้ยจักจั่นสีเขียว

 

การป้องกันกำจัด

• กำจัดหรือทำลายเชื้อสาเหตุ โดยไถกลบหรือเผาตอซังในนาที่มีโรค กำจัดวัชพืช โดยเฉพาะวัชพืชใกล้แหล่งน้ำที่เป็นที่อยู่อาศัยและขยายพันธุ์ของแมลงพาหะ

• ใช้พันธุ์ข้าวต้านทานแมลงเพลี้ยจักจั่นสีเขียว เช่น กข1 กข3 ซึ่งมีคุณสมบัติต้านทานการดูดกินของเพลี้ยจักจั่นสีเขียวได้ดีพอสมควร แต่ไม่ควรปลูกข้าวพันธุ์ดังกล่าว ติดต่อกันเป็นแปลงขนาดใหญ่ เนื่องจากแมลงสามารถปรับตัว เข้าทำลายพันธุ์ข้าวที่ต้านทานได้

•ใช้สารป้องกันกำจัดแมลงพาหะได้แก่ใช้สารฆ่าแมลงในระยะที่แมลงเป็นตัวอ่อนเช่น ไดโนทีฟูเรน หรือ บูโพรเฟซิน หรือ อีโทเฟนพรอกซ์ ไม่ควรใช้สารฆ่าแมลงผสมกันหลายๆชนิดหรือใช้สารฆ่าแมลงผสมสารป้องกันกำจัดโรคหรือสารกำจัดวัชพืชเพราะอาจทำให้ประสิทธิภาพของสารฆ่าแมลงลดลง

• ไม่ใช้สารกลุ่มไพรีทรอยด์สังเคราะห์ เช่น ไซเพอร์มิทริน ไซฮาโลทริน เดลต้ามิทริน

 

 

โรครากปม (Root-knot Disease)

พบมาก ในนาน้ำฝน ที่ดอนภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

สาเหตุ ไส้เดือนฝอยรากปม Meloidogyne graminicola

อาการ มักเกิดในสภาพไร่และแปลงกล้าซึ่งปล่อยให้น้ำแห้ง

เมื่อไส้เดือนฝอยตัวอ่อนระยะที่ 2 ฝังหัวเข้าไปที่ปลายรากอ่อนแล้ว จะปล่อยสารออกมากระตุ้นให้เนื้อเยื่อบริเวณรอบๆ นั้นแบ่งตัวเร็ว และมากกว่าปกติ นอกจากนี้จะมีเซลล์ขนาดใหญ่เกิดขึ้น เนื่องจากไส้เดือนฝอยปล่อยน้ำย่อยไปย่อยผนังเซลล์หลายเซลล์ทำให้เกิดเซลล์ใหม่ขนาดใหญ่ขึ้นมา และมันจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากเซลล์นี้ ทำให้เกิดรากพองขึ้นเป็นปม เมื่อปลายรากเกิดปมขึ้นแล้วรากนั้นก็จะไม่เจริญต่อไป ถ้ามีปมน้อยอาการไม่ปรากฏที่ใบ ถ้ามีปมมากจะทำให้ต้นข้าวแคระแกร็นและใบมีสีเหลืองได้

 

การแพร่ระบาด ไส้เดือนฝอยแพร่ระบาดได้ทั้งทางดิน น้ำ และเศษซากพืช พืชอาศัยของไส้เดือนฝอยนี้มีมากมายหลายประเภท ได้แก่ พวกวัชพืชกก , พืชตระกูลหญ้า, วัชพืชใบกว้าง และวัชพืชน้ำ

การป้องกันกำจัด

•ขังน้ำท่วมแปลงนานกว่า30วันหรือไถตากดินให้แห้ง

• ปลูกพืชอื่นที่ไม่ใช่พืชอาศัยหมุนเวียน เช่น ดาวเรือง ตะไคร้ เพื่อลดจำนวนไส้เดือนฝอยรากปมในดิน

 

 

โรคใบแถบแดง (Red Stripe Disease)

พบมาก ในนาชลประทาน ภาคกลาง

สาเหตุ ยังไม่มีความชัดเจน ซึ่งอาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Microbacterium sp. หรือเชื้อรา Gonatophragmium sp.

อาการ ลักษณะอาการที่สำคัญของโรคเริ่มแรกใบข้าวจะเป็นจุดสีเหลืองแผลเป็นรูปกลมหรือรูปไข่ จากนั้นจะขยายจากจุดที่เริ่มเป็นขึ้นเป็นแถบไปทางปลายใบ สีของแผลจะเข้มขึ้นเป็นสีเหลืองส้ม บางครั้งจุดนี้จะมีสีเข้ม แผลที่เกิดขึ้นเมื่อเป็นรุนแรงจะแห้งทั้งใบ

การแพร่ระบาด สามารถถ่ายทอดได้โดยการสัมผัส ทางบาดแผล และรูเปิดตามธรรมชาติ

การป้องกันกำจัด

•ในดินที่อุดมสมบูรณ์ไม่ควรใส่ปุ๋ยไนโตรเจนมาก

• ป้องกันกำจัดด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น คาร์เบนดาซิม ไธโอฟาเนทเมทิล และโพรพิโคนาโซล+ไดฟีโนโคนาโซล ตามอัตราที่ระบุ

 

 

โรคเมาตอซัง (Akiochi)

พบมาก นาชลประทาน ภาคกลาง

สาเหตุ ไม่มีเชื้อสาเหตุ เกิดจากความเป็นพิษของสภาพดินและน้ำ

อาการ เริ่มพบอาการเมื่อข้าวอายุประมาณ 1 เดือน หรือ ระยะแตกกอ ต้นข้าวจะแสดงอาการคล้ายขาดธาตุไนโตรเจน ต้นแคระแกร็น ใบซีดเหลืองจากใบล่างๆ มีอาการโรคใบจุดสีน้ำตาล จะพบเมื่อการเน่าสลายของเศษซากพืชในนายังไม่สมบูรณ์ ทำให้เกิดสารพิษ เช่น สารซัลไฟด์ ไปทำลายรากข้าวทำให้เกิดอาการรากเน่าดำ รากไม่สามารถดูดธาตุอาหารจากดินได้ ต้นข้าวจึงแสดงอาการขาดธาตุอาหาร และจะสร้างรากใหม่ในระดับเหนือผิวดิน ปัญหานี้มักเกิดจากการที่เกษตรกรทำนาอย่างต่อเนื่อง และไม่มีการพักนา

 

การแพร่ระบาด เนื่องจากเป็นโรคที่ไม่มีเชื้อสาเหตุ จึงไม่มีการระบาดติดต่อกัน

การป้องกันกำจัด

• ระบายน้ำเสียในแปลงออก ทิ้งให้ดินแห้งประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อให้รากข้าวได้รับอากาศ หลังจากนั้นจึงนำน้ำใหม่เข้าและหว่านปุ๋ย

• หลังเก็บเกี่ยวข้าว ควรทิ้งระยะพักดินประมาณ 1 เดือน ไถพรวนแล้วควรทิ้งระยะให้ตอซังเกิดการหมักสลายตัวสมบูรณ์อย่างน้อย 2 สัปดาห์

• ไม่ควรให้ระดับน้ำในนาสูงมากเกินไปและมีการไหลเวียนของน้ำอยู่เสมอ

 

 

 

โรคกล้าเน่าในกระบะเพาะ (Seedling Rot Disease in Nursery Box)

พบมาก ในกระบะตกกล้าที่ใช้กับรถปักดำ ในพื้นที่ที่ใช้เครื่องปักดำข้าวในเขตนาชลประทานภาคกลาง และ ภาคเหนือตอนล่าง

สาเหตุ เชื้อรา Curvularia lunata (Wakk.) Board.
Helminthosporium oryzae Breda de haan

อาการ เริ่มพบอาการได้ในระยะหลังจากการตกกล้าข้าวในกระบะเพาะโดยจะเริ่มพบเมล็ดข้าวบางส่วนที่เพาะไม่งอกและมีเส้นใยของเชื้อราปกคลุม ส่วนเมล็ดที่งอกต้นกล้าจะมีการเจริญเติบโตช้ากว่าต้นกล้าข้าวปกติ และเมื่อถอนต้นกล้าข้าวขึ้นมาดู ก็จะพบส่วนรากและโคนต้นกล้ามีแผลสีน้ำตาล และแผลที่เกิดบนโคนต้นจะลุกลามขึ้นไปยังส่วนบนของต้นกล้า ต่อจากนั้นจะทำให้ต้นกล้าเน่าตาย ในขณะเดียวกันเชื้อราสาเหตุของโรคจะขยายจากจุดเริ่มต้นที่เป็นโรค ออกไปบริเวณโดยรอบไปยังต้นกล้าข้างเคียง โดยในกรณีที่มีการตกกล้าที่หนาแน่น เชื้อราสาเหตุของโรคสามารถแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆของกระบะเพาะได้อย่างรวดเร็ว ต่อจากนี้ก็จะพบอาการตายของต้นกล้าข้าวเป็นหย่อมๆ กรณีที่เป็นโรคในกระบะกล้ารุนแรงทำให้ไม่สามารถนำต้นกล้าข้าวนั้นไปใช้ปักดำได้

 

การแพร่ระบาด

เนื่องจากเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อราที่ติดเมล็ดพันธุ์มาจากแปลงที่เป็นโรคเมล็ดด่างมาก่อน

การป้องกันกำจัด

  • ไม่ควรใช้เมล็ดพันธุ์จากแปลงที่มีการระบาดของโรคเมล็ดด่างมาก่อน
  • คลุกเมล็ดพันธุ์ก่อนปลูกด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น คาร์เบนดาซิม + แมนโคเซบ ในอัตรา
    3 กรัมต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม
  • ล้างทำความสะอาดกระบะเพาะกล้าหลังใช้ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ได้แก่ สารคลอรีน

เผาทำลายต้นกล้าข้าวที่เป็นโรคเน่าตายในกระบะเพาะ

 

 

 

โรคลำต้นเน่า (Stem Rot Disease)

พบมาก ใน นาน้ำฝน และ นาชลประทาน ใน ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ ภาคใต้

สาเหตุ เชื้อรา Sclerotium oryzae Catt.

อาการ เริ่มพบอาการได้ในระยะต้นข้าวก่อนออกรวงหรือหลังออกรวงแล้ว โดยจะพบแผลเป็นจุดสีน้ำตาลดำใกล้ระดับน้ำและแผลจะขยายใหญ่ขึ้นและลงตามกาบใบของต้นข้าว และในขณะเดียวกันภายในลำต้นก็จะมีแผลมีลักษณะเป็นขีดสีน้ำตาล เมื่อต้นข้าวเป็นโรครุนแรง ใบล่างของต้นข้าวเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ส่วนของกาบใบและลำต้นจะเน่า ต้นข้าวล้มง่ายและเมื่อดึงต้นข้าวก็จะหลุดออกจากกอได้ง่าย ต้นข้าวจะตายก่อนออกรวง แต่ถ้ามีการระบาดของโรคไม่รุนแรงหรือโรคเกิดขึ้นในระยะต้นข้าวหลังออกรวงแล้ว จะมีผลทำให้ผลผลิตของข้าวลดลงได้ และเมื่อต้นข้าวเป็นโรคและแห้งตายก็จะพบเม็ดขยายพันธุ์ของเชื้อราสาเหตุของโรคมีสีดำฝังอยู่ในเนื้อเยื่อของกาบใบและตามปล้องของต้นข้าว เม็ดขยายพันธุ์ของเชื้อราสาเหตุของโรคสามารถตกค้างอยู่บนตอซังข้าวและในดินได้เป็นระยะเวลานาน

 

 

การแพร่ระบาด เนื่องจากเชื้อราสาเหตุจะสร้างเม็ดขยายพันธุ์ที่ตกค้างอยู่ในตอซังข้าวและดิน ในขณะเดียวกันก็สามารถลอยอยู่บนผิวน้ำและแพร่กระจายไปกับน้ำในนาข้าวได้เช่นกัน

การป้องกันกำจัด

  • เลือกปลูกพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่
  • ไม่ควรใส่ปุ๋ยไนโตรเจนสูงในแปลงที่เป็นโรค
  • หลังเก็บเกี่ยวข้าว และเริ่มฤดูใหม่ ควรพลิกไถหน้าดิน เพื่อทำลายเม็ดขยายพันธุ์ของเชื้อรา เก็บทำลายซากพืชที่เป็นโรคออกจากแปลง

หมั่นตรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอเมื่อเริ่มพบโรคพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช

เช่น พีซีเอ็นบี คาร์บ๊อกซิน วาลิดามัยซิน


 

คำค้นหา:โรคข้าว,โรคในนาข้าว,นาข้าว,โอทู,ฮอโมน,ปุ๋ยน้ำ,ปุ๋ยชีวภาพ,ศัตรูนาข้าว,ยาฆ่าแมลง,เพลี้ยกระโดด

Tags : โรคข้าว โรคในนาข้าว นาข้าว โอทู ฮอโมน ปุ๋ยน้ำ ปุ๋ยชีวภาพ ศัตรูนาข้าว เพลี้ยกระโดด

view

 หน้าแรก

 บทความ

 เว็บบอร์ด

 ติดต่อเรา

view